วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

คำอธิบายพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์



เนื้อหาคำอธิบายตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ในที่นี้ ประกอบด้วย
1. เครื่องสำอาง ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 คืออะไร
2. ประเภทของเครื่องสำอาง
3. การผลิต การนำเข้าเครื่องสำอางควบคุม
4. การส่งออกเครื่องสำอาง
5. ใบจดแจ้งเครื่องสำอางมีอายุเท่าใด
6. การผลิตเครื่องสำอางสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยไม่ต้องจดแจ้งเครื่องสำอาง ทำได้หรือไม่
7. การเปิดร้านขายเครื่องสำอาง หรือขายเครื่องสำอางทางอินเตอร์เน็ต ต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาต หรือไม่
8. ฉลากเครื่องสำอางต้องระบุอะไรบ้าง
9. คำเตือนของเครื่องสำอาง
10. เครื่องสำอางแสดงข้อความที่ฉลากว่ารักษาโรคได้
11. เครื่องสำอางที่ห้ามผลิต ขาย นำเข้า ในประเทศไทย มีลักษณะอย่างไร
12. บทลงโทษเครื่องสำอางที่ห้ามผลิตเพื่อขาย ขาย นำเข้าเพื่อขาย
13. สารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง มีลักษณะอย่างไร หากเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้ จะต้องได้รับโทษอย่างไร
14. สารที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง หากเครื่องสำอางนั้นใช้สารดังกล่าวเกินกำหนดจะต้องได้รับโทษอย่างไร
15. การโฆษณาขายเครื่องสำอาง จะต้องขออนุญาตจาก อย.หรือไม่ เพราะเหตุใด
16. ข้อห้ามของการโฆษณาเครื่องสำอาง มีอะไรบ้าง
17. หากมีการฝ่าฝืนเรื่องโฆษณาเครื่องสำอาง จะต้องรับโทษตามพ.ร.บ.เครื่องสำอางได้หรือไม่ หากมีปัญหาตามกฎหมายจะแก้ไขอย่างไร
18. นำเข้าเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้งอย่างถูกต้อง และโฆษณาผ่านเว็บไซต์ว่าสามารถลดรอยเหี่ยวย่นได้ ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่อย่างไร
19. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ให้อำนาจสามารถสั่งปิดร้านขายเครื่องสำอางได้หรือไม่ อย่างไร
20. อำนาจจับ

กรณีศึกษา


1. เครื่องสำอาง ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 คืออะไร
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 4 บัญญัตินิยาม “เครื่องสำอาง” ดังนี้
           “เครื่องสำอาง” หมายความว่า
           (1) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด ต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงามและรวมตลอดทั้งเครื่องประทินผิวต่าง ๆ ด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย
           (2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะ หรือ
           (3) วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกฎกระทรวงให้เป็นเครื่องสำอาง

2. ประเภทของเครื่องสำอาง
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 แบ่งประเภทของเครื่องสำอางเป็น 3 ประเภท ดังนี้
          1. เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ คือ เครื่องสำอางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ซึ่งการผลิตเพื่อขายหรือการนำเข้าเพื่อขาย ต้องได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 16 เสียก่อน (มาตรา 5(1)) เป็นเครื่องสำอางที่อาจเป็นอันตรายรุนแรงต่อผู้ใช้ หรือมีส่วนประกอบของวัตถุมีพิษ หรือวัตถุอื่นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อสวัสดิภาพอนามัยของบุคคล ต้องมีข้อความว่า “เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ”
          2. เครื่องสำอางควบคุม คือ เครื่องสำอางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของเครื่องสำอางควบคุม ซึ่งการผลิตเพื่อขายหรือการนำเข้าเพื่อขาย ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามมาตรา 27 (มาตรา 5(2)) และมีหน้าที่ต้องจดแจ้งตามมาตรา 28 ต้องมีข้อความว่า “เครื่องสำอางควบคุม”
          3. เครื่องสำอางทั่วไป คือ เครื่องสำอางที่ไม่เข้าเงื่อนไขเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ หรือเครื่องสำอางควบคุม

          แม้ในทางกฎหมายจะแบ่งประเภทของเครื่องสำอางออกเป็น 3 ประเภท ในทางปฏิบัตินั้น ปัจจุบันกำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุมเท่านั้น ไม่มีประเภทเครื่องสำอางควบคุมพิเศษหรือเครื่องสำอางทั่วไปอีกต่อไป เนื่องจากมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกการกำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 25 กันยายน พ.ศ.2551) ได้ยกเลิกการกำหนดเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ และให้เครื่องสำอางควบคุมพิเศษที่ได้รับทะเบียนเครื่องสำอางควบคุมพิเศษอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2551) ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางควบคุมที่ได้รับการจดแจ้งแล้ว และได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดเครื่องสำอางควบคุม (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 25 กันยายน พ.ศ.2551) ให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม
          ผลที่ตามมา คือ จะไม่มีการใช้พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ในมาตราต่อไปนี้ คือ มาตรา 5(1) มาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 13 – มาตรา 25 มาตรา 47 - มาตรา 51 มาตรา 53
          ส่วนบางมาตราซึ่งอ้างอิงหลายมาตรารวมกันนั้น ให้ตัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอางควบคุมพิเศษออกไป ได้แก่ มาตรา 45 (ตัดเฉพาะข้อความ “มาตรา 21” ออกไป) มาตรา 52 (ตัดเฉพาะข้อความ “มาตรา 24” ออกไป) มาตรา 63 (ตัดเฉพาะข้อความ “มาตรา 13” “มาตรา 21” ออกไป) มาตรา 64 (ตัดเฉพาะข้อความ “มาตรา 47 มาตรา 50 มาตรา 53” ออกไป)

          กรณีปรับจากเครื่องสำอางควบคุมพิเศษมาเป็นเครื่องสำอางควบคุมนั้นทำให้ระดับการควบคุมนั้นอ่อนลง ส่วนการปรับเครื่องสำอางทั่วไปเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษนั้นทำให้มีระดับการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น

          เมื่อเป็นเครื่องสำอางควบคุมจะต้องมีการแจ้งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับปัจจุบัน คือ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 2 มิถุนายน 2553)

3. การผลิต การนำเข้าเครื่องสำอางควบคุม

          หากต้องการผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางควบคุม ต้องมีการแจ้งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ปัจจุบัน คือ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 2 มิถุนายน 2553) กฎกระทรวงฉบับนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 68 แห่งพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535
          เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยแผนการปรับกฎระเบียบเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันแห่งอาเซียน (Agreement on the ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory Scheme) ที่จะปรับกฎระเบียบด้านเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมให้สอดคล้องกับแบบการแจ้ง ตามที่คณะกรรมการเครื่องสำอางอาเซียน (ASEAN Cosmetic Committee) กำหนด และเนื่องจากมาตรา 28 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 กำหนดให้การแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

          ผู้ใดประสงค์จะผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ให้แจ้งรายละเอียดตามมาตรา 28 (1) (2) และ (3) ก่อนวันผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายตามแบบที่เลขาธิการกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน ดังต่อไปนี้
                    (1) กรณีเป็นบุคคลธรรมดา
                               (ก) สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
                               (ข) สำเนาทะเบียนบ้านของสำนักงานและสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
                               (ค) สำเนาทะเบียนพาณิชย์ (ถ้ามี)
                               (ง) แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
                               (จ) หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจกรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นแจ้ง
                     (2) กรณีเป็นนิติบุคคล
                                (ก) สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจทำการแทนผู้แจ้ง
                                (ข) สำเนาทะเบียนบ้านของสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
                                (ค) สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลซึ่งออกให้ไม่เกินหกเดือน
                                (ง) หลักฐานแสดงการเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล
                                (จ) แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
                                (ฉ) หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจกรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นแจ้ง

          การแจ้งตามกฎกระทรวงนี้ ให้ยื่น ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแห่งท้องที่ที่สำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอางของผู้ผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมนั้นตั้งอยู่ หรือแจ้งผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
          เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งรายละเอียดพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามข้อ 2 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรายละเอียดการแจ้งและเอกสารและหลักฐานหากเห็นว่าถูกต้องครบถ้วน ให้ออกใบรับแจ้งให้แก่ผู้แจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐานภายในสามวันทำการนับแต่วันแจ้ง

          เครื่องสำอางที่ผ่านการจดแจ้งเครื่องสำอางแล้ว จะต้องมีเลขที่ใบรับแจ้งที่ติดที่ฉลากเครื่องสำอางชนิดนั้น

          แบบแจ้งรายละเอียดในปัจจุบันให้ปฏิบัติตาม ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดแบบแจ้งรายละเอียดการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2557 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 24 พฤศจิกายน 2557) ซึ่งเป็นประกาศฉบับล่าสุดใช้แทนประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดแบบแจ้งรายละเอียดการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2556 (ราชกิจจานุเบกษา 26 กรกฎาคม พ.ศ.2556) โดยแบบแจ้งรายละเอียดแบบใหม่นี้ตัดการแจ้งเรื่องภาพผลิตภัณฑ์และขนาดบรรจุออกไป



4. การส่งออกเครื่องสำอาง
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการควบคุมการส่งออก (ถ้าไม่มีการผลิต หรือขายภายในประเทศ)

5. ใบจดแจ้งเครื่องสำอางมีอายุเท่าใด
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ตลอดจนกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ ไม่ได้มีกำหนดเรื่องอายุใบจดแจ้งเครื่องสำอาง

6. การผลิตเครื่องสำอางสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยไม่ต้องจดแจ้งเครื่องสำอาง ทำได้หรือไม่
          กรณีแพทย์หรือบุคคลใดผลิตเครื่องสำอางของคลินิกสำหรับผู้รับบริการ ถือว่าเป็นการผลิตเพื่อขายหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาจากนิยาม “ขาย” ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535  หมายความว่า จำหน่าย จ่ายแจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการค้าและหมายความรวมถึงมีไว้เพื่อขายด้วย ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับนิยาม “ขาย” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 แต่พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่ได้มีข้อยกเว้นกรณีที่แพทย์ผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายซึ่งเป็นเหตุไม่ต้องไปจดแจ้งเครื่องสำอางตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 28  ต่างจากกรณีตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หากมีการผลิตยาตามใบสั่งแพทย์ก็ไม่ต้องขออนุญาต หรือการขายยาสำหรับคนไข้เฉพาะตนตามใบสั่งแพทย์ ไม่ต้องขอใบอนุญาตผลิตหรือขอใบอนุญาตขาย
          ดังนั้น แพทย์หรือบุคคลใดผลิตเครื่องสำอางของคลินิกสำหรับผู้รับบริการแม้จะเป็นการผลิตสำหรับผู้รับบริการเฉพาะรายก็ตาม หากไม่ได้จดแจ้งเครื่องสำอาง ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 28 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามมาตรา 55 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7. การเปิดร้านขายเครื่องสำอาง หรือขายเครื่องสำอางทางอินเตอร์เน็ต ต้องขออนุญาตจากผู้อนุญาต หรือไม่
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่ได้มีบทบัญญัติว่าการเปิดร้านขายเครื่องสำอาง จะต้องได้รับใบอนุญาตหรือจดแจ้งก่อนการขายเครื่องสำอาง นอกจากนี้ในส่วนของการโฆษณา หากมองว่าการเปิดร้านขายเครื่องสำอางทางอินเตอร์เน็ตเป็นรูปแบบหนึ่งของการโฆษณา ไม่ได้มีบทบัญญัติว่าจะต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา
          ดังนั้น การเปิดร้านขายเครื่องสำอาง หรือขายเครื่องสำอางทางอินเตร์เน็ต ไม่ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่ได้มีบทบัญญัติบังคับไว้
          ควรต้องทราบว่าอาจยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นอีก (ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทใดก็ตาม) เช่น
                    (1) การสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตแล้วส่งไปสินค้าไปยังผู้สั่งซื้อ ถือเป็นการตลาดแบบตรง ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
                    (2) เมื่อเป็นการขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นรูปแบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ด้วย

8. ฉลากเครื่องสำอางต้องระบุอะไรบ้าง
          ฉลากเครื่องสำอางควบคุม ปฏิบัติตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 30 ฝ่าฝืนได้รับโทษตามมาตรา 56 หรือ มาตรา 57 หรือมาตรา 58 แล้วแต่กรณี
          มาตรา 30  ฉลากของเครื่องสำอางที่มีการควบคุมตามมาตรา 5 (6) จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
           (1) ใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริง และไม่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
           (2) ต้องระบุข้อความอันจำเป็น ซึ่งหากมิได้กล่าวเช่นนั้น จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
          การกำหนดตามวรรคหนึ่ง (2) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          มาตรา 56  ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีกภายในหกเดือน นับแต่วันกระทำความผิดครั้งก่อน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        มาตรา 57  ผู้ใดขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก โดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายเครื่องสำอางที่มีฉลากที่คณะกรรมการสั่งเลิกใช้ตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
        ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        มาตรา 58  ผู้ใดรับจ้างทำฉลากที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือรับจ้างติดตรึงฉลากที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายกับเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากโดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

8.1 ฉลากของเครื่องสำอาง ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. การระบุข้อความอันจำเป็น ฉลากเครื่องสำอางต้องระบุข้อความอันจำเป็น ดังนี้
(1) ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น
(2) ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง
        ปัจจุบันกำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุมเท่านั้น ไม่มีประเภทเครื่องสำอางควบคุมพิเศษหรือเครื่องสำอางทั่วไปอีกต่อไป เมื่อเป็นเครื่องสำอางควบคุมจะต้องมีการแจ้งตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับปัจจุบัน คือ กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม พ.ศ. 2553 (ราชกิจจานุเบกษา 2 มิถุนายน 2553)
(3) ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ซึ่งจะต้องเป็นชื่อตามตำราที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนด และจะต้องเรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย
(4) วิธีใช้เครื่องสำอาง
(5) ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้าและชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีที่เป็นเครื่องสำอางนำเข้า
(6) ปริมาณสุทธิ
(7) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต
(8) เดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต
        การระบุวันผลิต เป็นข้อความที่ถูกบังคับในฉลาก ไม่ต้องระบุว่าผลิตในวันใด เพียงแต่ให้ระบุ เดือนที่ผลิต ปีที่ผลิตเท่านั้น จะนำเดือนขึ้นก่อนแล้วตามด้วยปี หรือนำปีขึ้นก่อนแล้วตามด้วยปีก็ได้
        เมื่อพิจารณาการระบุในลักษณะนี้อาจทำให้เกิดความสับสนได้ เนื่องจากไม่ได้กำหนดให้ชัดเจนว่าเดือนที่ผลิตต้องเป็นตัวเลขหรืออักษร ปีที่ผลิตต้องระบุตัวเลขกี่หลัก เป็นปีพุทธศักราชหรือคริสต์ศักราช เช่น ระบุว่า วันผลิต 08/10 สามารถแปลความหมายได้ว่า ผลิตเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2010 หรืออาจจะแปลว่าผลิตปี ค.ศ.2008 เดือนตุลาคม ก็ได้
(9) เดือน ปี ที่หมดอายุ หรือ ปี เดือน ที่หมดอายุ หรือข้อความอื่นที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน สำหรับกรณีที่เป็นเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน
        การระบุวันหมดอายุ ไม่ใช่ข้อความที่ถูกบังคับในฉลากเครื่องสำอาง ยกเว้นเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน ได้แก่ เครื่องสำอางที่มีไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide)
(10) คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล (ถ้ามี)
(11) เลขที่ใบรับแจ้ง (เลขที่จดแจ้ง 10 หลัก)

2. ลักษณะข้อความอื่น
(1) การแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิต หรือแจ้งการขึ้นทะเบียนต้องแจ้งตามความเป็นจริง มิฉะนั้นถือว่าเป็นเครื่องสำอางปลอม
(2) นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การโฆษณาเครื่องสำอางโดยอนุโลม กล่าวคือ ต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ เช่น ไม่ใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ไม่ใช้ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม

3. ภาษาที่ใช้ในฉลากเครื่องสำอาง
          เครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลาก ข้อความอันจำเป็นต้องใช้ข้อความภาษาไทยที่มองเห็นและอ่านได้ชัดเจน นอกจากข้อความอันจำเป็นที่ได้กำหนดไว้แล้ว อาจมีข้อความอื่นหรือมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ ยกเว้นชื่อของสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง อาจใช้ภาษาไทยหรือเขียนภาษาไทยทับศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือใช้ภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

8.2 วิธีการติดฉลากเครื่องสำอาง
1. ต้องจัดหรือติดแสดงไว้ในที่เปิดเผยมองเห็นได้ชัดเจนที่เครื่องสำอาง หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของภาชนะบรรจุเครื่องสำอาง
2. เครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากซึ่งนำเข้าเพื่อขาย ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำฉลากเป็นภาษาไทยที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อ ในขณะนำเข้าที่ด่านศุลกากร แต่ต้องจัดทำฉลากเป็นภาษาไทยก่อนนำออกจำหน่ายให้แล้วเสร็จและถูกต้องภายใน 30 วัน นับแต่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจปล่อยให้นำเข้าแล้ว
3. ฉลากของเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากที่ผลิตเฉพาะเพื่อการส่งออกให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า
4. กรณีของเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากที่มีภาชนะบรรจุขนาดเล็ก และมีพื้นที่ในการแสดงฉลากน้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร อย่างน้อยต้องแสดงข้อความ
          (1) ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น
          (2) เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต
          (3) เดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต
          (4) เลขที่ใบรับแจ้ง (เลขที่จดแจ้ง 10 หลัก)
          สำหรับข้อความอันจำเป็นที่ไม่สามารถแสดงในฉลากที่มีพื้นที่ในการแสดงฉลากน้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร ได้ให้แสดงไว้ที่ใบแทรกหรือเอกสารหรือคู่มือที่ใช้ประกอบเครื่องสำอางนั้นด้วย

          เดิมประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง (ลงวันที่ 2 กันยายน 2551, ราชกิจจานุเบกษา 22 กันยายน 2551) กำหนดให้แสดงเพียงชื่อเครื่องสำอาง และเลขที่ครั้งที่ผลิตเท่านั้น แต่ขณะนี้มีประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง ฉลากของเครื่องสำอาง (ราชกิจจานุเบกษา 17 มีนาคม 2554) กำหนดให้มีการเดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต และเลขที่ใบรับแจ้ง ซึ่งจะใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

9. คำเตือนของเครื่องสำอาง
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่ได้บัญญัติข้อความเกี่ยวกับ “คำเตือน” ในพระราชบัญญัติ แต่อาศัยมาตรา 30 วรรคสอง ที่กำหนดให้ฉลากของเครื่องสำอางที่มีการควบคุมต้องระบุข้อความอันจำเป็น ซึ่งหากมิได้กล่าวเช่นนั้น จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดที่คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          ปัจจุบัน การแสดงคำเตือนที่เครื่องสำอาง ให้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง การแสดงคำเตือนที่ฉลากเครื่องสำอาง (รวมทั้งฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) และประกาศฉบับอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง การแสดงคำเตือนที่ฉลากของผ้าอนามัยชนิดสอด

ตัวอย่างคำเตือน
ผ้าอนามัยชนิดสอด ต้องแสดงคำเตือนที่ฉลาก ดังนี้
(1) ไม่ควรใช้เมื่อภาชนะบรรจุฉีกขาด
(2) ไม่ควรใส่ไว้ในช่องคลอดนานเกิน 8 ชั่วโมง ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4 - 8 ชั่วโมง
(3) ขณะใช้ หากมีอาการเป็นไข้ คลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียน หน้ามืด ท้องเดิน และมีผื่นแดง ขึ้นตามผิวกาย ให้นำผ้าอนามัยออก และรีบไปพบหรือปรึกษาแพทย์ทันที
(ประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง เรื่อง การแสดงคำเตือนที่ฉลากของผ้าอนามัยชนิดสอด, ราชกิจจานุเบกษา 13 มีนาคม พ.ศ.2553)

ตัวอย่างคำเตือน

ชื่อสาร
บริเวณที่ใช้ และ/หรือการนำไปใช้
คำเตือนที่ฉลาก
Zinc pyrithione
ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมประเภทที่ต้องล้างออก
- มีสาร Zinc pyrithione
- ระวังอย่าให้เข้าตา หากเข้าตาให้รีบล้างออก ด้วยน้ำสะอาด
-. หากเกิดอาการระคายเคืองหรือผิดปกติ ควร หยุดใช้หรือปรึกษาแพทย์
ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ประเภทที่ไม่ต้องล้างออก
Climbazole
ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมประเภทที่ต้องล้างออก
- มีสาร Climbazole
- ระวังอย่าให้เข้าตา
- หากใช้ผลิตภัณฑ์แล้วเกิดอาการระคายเคือง ให้หยุดใช้ และปรึกษาแพทย์
- ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม ประเภทที่ไม่ต้องล้างออก
Talc (Hydrated magnesium silicate)
แป้งฝุ่นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี
ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากของเด็ก
Resorcinol
ผลิตภัณฑ์สำหรับย้อมผม (Oxidizing colouring agents for hair dyeing)
- มีสาร Resorcinol
- ระวังอย่าให้เข้าตา หากเข้าตาต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ห้ามใช้ย้อมขนตาหรือขนคิ้ว
โลชั่นสำหรับเส้นผมและแชมพู
มีสาร Resorcinol
Hydroquinone
ผลิตภัณฑ์สำหรับย้อมผม(Oxidizing colouring agents for hair dyeing)
- มีสาร Hydroquinone
- ระวังอย่าให้เข้าตา หากเข้าตาต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- ห้ามใช้ย้อมขนตาหรือขนคิ้ว
ผลิตภัณฑ์ชุดทำเล็บเทียม
- สำหรับช่างทำเล็บอาชีพ
- ระวังอย่าให้สัมผัสผิวหนัง
- อ่านวิธีใช้ให้ละเอียดก่อนใช้
Hydroquinone methylether
ผลิตภัณฑ์ชุดทำเล็บเทียม
-สำหรับช่างทำเล็บอาชีพ
- ระวังอย่าให้สัมผัสผิวหนัง
- อ่านวิธีใช้ให้ละเอียดก่อนใช้
Lead acetate
ผลิตภัณฑ์แต่งผมดำ
- มีสาร Lead acetate
- ใช้กับเส้นผมบนหนังศีรษะเท่านั้น
- ห้ามนวดศีรษะขณะใช้
- ห้ามใช้เมื่อหนังศีรษะมีรอยถลอก เป็นแผลหรือโรคผิวหนัง
- ต้องหยุดใช้เมื่อเกิดอาการคัน ระคายเคือง หรือมีเม็ดผื่นแดง
4-Aminobenzoic acid (PABA)

N,N,N-Trimethyl-4-(2-oxoborn-3-ylidenemethyl)anilinium methyl sulfate

Homosalate

Menthyl anthranilate

Oxybenzone

Titanium dioxide

Zinc oxide
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด
- การใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายจากแสงแดด
- อ่านวิธีใช้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
- หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้น ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์
Hydrogen peroxide and other compounds or mixtures that release hydrogen peroxide including carbamide peroxide and zinc peroxide




ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม
- มีสาร Hydrogen peroxide
- ระวังอย่าให้เข้าตา หากเข้าตาต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- สวมถุงมือที่เหมาะสมขณะใช้
ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนัง
- มีสาร Hydrogen peroxide
- ระวังอย่าให้เข้าตา หากเข้าตาต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด
ผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บ (Nail hardening preparations)
- มีสาร Hydrogen peroxide
- ระวังอย่าให้เข้าตา หากเข้าตาต้องรีบล้างออก ด้วยน้ำสะอาด
ผลิตภัณฑ์ฟอกสีฟันสำหรับทันตแพทย์จ่ายให้ผู้บริโภคนำไปใช้เองที่บ้าน
- ขายให้เฉพาะกับทันตแพทย์เท่านั้น ห้ามขาย ให้ผู้บริโภคนำไปใช้เอง
- ใช้ภายใต้คำแนะนำของทันตแพทย์เท่านั้น
- อ่านวิธีการใช้อย่างละเอียดและปฏิบัติตาม คำแนะนำก่อนใช้อย่างเคร่งครัด
- ไม่ควรใช้ภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนหรือหลังการทำฟัน
- ไม่แนะนำให้ใช้กับสตรีมีครรภ์ หรือผู้สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
- หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ เมื่อมีอาการเสียวฟันอย่างต่อเนื่อง เหงือกระคายเคือง ปวดฟัน มีวัสดุอุดฟันในช่องปากที่ไม่เรียบร้อย เหงือกอักเสบ คลื่นไส้ เป็นต้น
- เก็บให้พ้นมือเด็ก
ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยในช่องปาก

หากต้องการทราบว่าสารใดบ้างต้องแสดงคำเตือนอย่างไร สามารถศึกษาได้จากประกาศดังต่อไปนี้
ชื่อประกาศ
ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม
ตอน
วันที่
หน้า
125
พิเศษ 162 ง
9 ตุลาคม พ.ศ.2551
15
129
พิเศษ 39 ง
23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555
56
129
พิเศษ 128 ง
23 สิงหาคม พ.ศ.2555
16
130
พิเศษ 74 ง
21 มิถุนายน พ.ศ.2556
27
131
พิเศษ 240
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
20
127
พิเศษ 34 ง
17 มีนาคม พ.ศ.2553
57

10. เครื่องสำอางแสดงข้อความที่ฉลากว่ารักษาโรคได้
          การระบุที่กล่องหรือที่ตัวบรรจุภัณฑ์ว่า สามารถป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคได้ ถือได้ว่ามีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 30(1)
คณะกรรมการเครื่องสำอางมีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากเลิกใช้ฉลากดังกล่าวหรือดำเนินการแก้ไขฉลากนั้นให้ถูกต้อง ตามมาตรา 31
          ส่วนบทลงโทษ อาจลงโทษตามมาตรา 56 มาตรา 57 หรือมาตรา 58 แล้วแต่กรณีตามข้อเท็จจริง

ตัวอย่างคดี







11. เครื่องสำอางที่ห้ามผลิต ขาย นำเข้า ในประเทศไทย มีลักษณะอย่างไร
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 36  “ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ตามมาตรา 33 เครื่องสำอางปลอมตามมาตรา 34 หรือเครื่องสำอางผิดมาตรฐานตามมาตรา 35”

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า เครื่องสำอางที่ห้ามผลิต ขาย นำเข้า ในประเทศไทย คือ

11.1 เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 33 กำหนดเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้มีลักษณะดังนี้
          มาตรา 33  เครื่องสำอางที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้
           (1) เครื่องสำอางที่มีสารที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เจือปนอยู่ด้วย
           (2) เครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้ตามมาตรา 5 (4)
           (3) เครื่องสำอางที่ผลิตหรือใช้ภาชนะบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้
           (4) เครื่องสำอางที่มีสารอันสลายตัวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนภายหลังที่บรรจุภาชนะแล้ว และทำให้เกิดเป็นพิษอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

11.2 เครื่องสำอางปลอม
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 34 กำหนดเครื่องสำอางที่ปลอม มีลักษณะดังนี้
          มาตรา 34  เครื่องสำอางที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางปลอม
           (1) เครื่องสำอางที่ใช้วัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำเทียมขึ้นเป็นสารสำคัญของเครื่องสำอางนั้น หรือเป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีสารสำคัญตามที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
           (2) เครื่องสำอางที่แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งมิใช่ความจริง
           (3) เครื่องสำอางที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง
           (4) เครื่องสำอางซึ่งมีสารสำคัญขาด หรือเกินกว่าร้อยละยี่สิบตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือตามที่แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตามที่ระบุไว้ในฉลาก

          แม้ว่าจะใช้ข้อความแสดงสรรพคุณเกินจริงบนเครื่องสำอางแต่ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่ถือว่าเป็นเครื่องสำอางปลอมแต่อย่างใด

ตัวอย่างคดี




11.3 เครื่องสำอางผิดมาตรฐาน
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 34 กำหนดเครื่องผิดมาตรฐานมีลักษณะดังนี้
          มาตรา 35  เครื่องสำอางซึ่งมีสารสำคัญน้อยหรือมากกว่าที่ขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางไว้ หรือที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือที่ระบุไว้ในฉลาก เกินเกณฑ์ค่าคลาดเคลื่อนที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่ไม่ถึงขนาดดังกล่าว ในมาตรา 34 (4) ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางผิดมาตรฐาน

12. บทลงโทษเครื่องสำอางที่ห้ามผลิตเพื่อขาย ขาย นำเข้าเพื่อขาย
          การฝ่าฝืนกรณีเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต ขาย นำเข้าเพื่อขาย มีทั้งบทลงโทษกรณีที่มีการกระทำโดยเจตนา และบทลงโทษกรณีที่กระทำโดยประมาท ดังนี้

ประเภทเครื่องสำอาง
การกระทำ
บทลงโทษกรณีเจตนา
บทลงโทษกรณีกระทำโดยประมาท
12.1 เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ เพราะมีสารที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้เจือปน หรือมีวัตถุที่ห้ามใช้ตามมาตรา 5 (4)

12.2 เครื่องสำอางปลอม เพราะใช้วัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำเทียมขึ้นเป็นสารสำคัญของเครื่องสำอางนั้น หรือเป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีสารสำคัญตามที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเครื่องสำอางที่แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งมิใช่ความจริง
ผลิตเพื่อขาย
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง

ขาย
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง
ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคสี่
นำเข้าเพื่อขาย
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง
ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคสาม
12.3 เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้โดยมีลักษณะการผลิตหรือใช้ภาชนะบรรจุไม่ถูกสุขลักษณะอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ หรือเครื่องสำอางที่มีสารอันสลายตัวทั้งหมดหรือแต่บางส่วนภายหลังที่บรรจุภาชนะแล้ว และทำให้เกิดเป็นพิษอันอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้

12.4 เครื่องสำอางปลอมที่มีลักษณะที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิต หรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง หรือมีสารสำคัญขาด หรือเกินกว่าร้อยละยี่สิบตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือตามที่แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตามที่ระบุไว้ในฉลาก
ผลิตเพื่อขาย
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคสอง

ขาย
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคสอง
ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคสี่
นำเข้าเพื่อขาย
ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคสอง
ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 59 วรรคสาม
12.5 เครื่องสำอางผิดมาตรฐาน
ผลิตเพื่อขาย
ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง

ขาย
ระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง
ระวางโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท ตามมาตรา 61 วรรคสอง
นำเข้าเพื่อขาย
ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง
ระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 60 วรรคสอง

13. สารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง มีลักษณะอย่างไร หากเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้ จะต้องได้รับโทษอย่างไร
          หากพิจารณาสารที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอางจะพบว่าอาจเป็นกรณีสารบางตัวอยู่ในกลุ่มยา หรือเป็นวัตถุอันตราย หรืออาจอยู่ภายใต้กฎหมายอื่น หรือเป็นกรณีที่สารนั้นเมื่อนำมาใช้กับร่างกายมนุษย์แล้วอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในการใช้ เช่น เป็นสารก่อมะเร็ง หรือทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย หรือไม่มีหลักฐานที่รับรองเรื่องความปลอดภัยอย่างเพียงพอ
          ตัวอย่างสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เช่น
                    ยาปฏิชีวนะ,
                    Azelaic acid,
                    Anti-androgens of steroidal structure,
                    Metformin and its salts,
                    Isosorbide dinitrate,
                    Ergocalciferol and cholecalciferol (vitamins D2 and D3),
                    Lidocaine, Vaccines,
                    Estrogen,
                    Glucocorticoids,
                    Carbon tetrachloride,
                    Chloroform,
                    Formamide,
                    Asbestos,
                    Mercury and its compounds
                    Petroleum,
                    Phenol,
                    Hydroquinone (มีข้อยกเว้น)
                    toxins or serums,
                    Cells, tissues or products of human origin (ส่งผลให้เครื่องสำอางเซลล์ต้นกำเนิดจากมนุษย์เป็นเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย)

          เครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้ ถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 33(2) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขาย ตามมาตรา 36 บทลงโทษตามมาตรา 59


ตัวอย่างคดี



     หากต้องการทรายว่ามีสารใดที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอาง สามารถดูรายละเอียดได้จากประกาศดังต่อไปนี้
ชื่อประกาศ
ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม
ตอน
วันที่
หน้า
125
พิเศษ 80 ง
12 พฤษภาคม พ.ศ.2551
13
126
พิเศษ 46 ง
27 มีนาคม พ.ศ.2552
36
129
พิเศษ 39 ง
23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555
8
129
พิเศษ 39 ง
23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555
10
129
พิเศษ 127 ง
22 สิงหาคม พ.ศ.2555
55
130
พิเศษ 9 ง
23 มกราคม พ.ศ.2556
9
130
พิเศษ 119 ง
16 กันยายน พ.ศ.2556
11
131
พิเศษ 54
28 มีนาคม พ.ศ.2557
3
131
พิเศษ 202
8 ตุลาคม พ.ศ.2557
14

14. สารที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางมีอะไรบ้าง หากเครื่องสำอางนั้นใช้สารดังกล่าวเกินกำหนดจะต้องได้รับโทษอย่างไร
     สารบางตัวอาจอนุโลมให้ใช้ในเครื่องสำอางได้ในปริมาณที่กำหนด ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อและปริมาณของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 5(4) หรือประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำอางควบคุมตามมาตรา 5 (2) ได้ และจะกำหนดภาชนะบรรจุ หลักเกณฑ์ วิธีการผลิต วิธีการนำเข้า หรือวิธีการเก็บรักษาเพื่อให้ผู้ผลิตเพื่อขายหรือผู้นำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมปฏิบัติด้วยก็ได้ ตามมาตรา 28
     สารที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง อาจแบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสม กรณีที่เป็นสารกันเสีย และกรณีที่เป็นสี

14.1 วัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
     ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดชื่อและปริมาณของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 9 ตุลาคม พ.ศ.2551 ข้อ 2) ซึ่งจะเข้าข่ายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 33(2) ซึ่งห้ามผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขาย ตามมาตรา 36 ได้ แต่ไม่ใช้บังคับกับเครื่องสำอางที่ผลิตเฉพาะเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดชื่อและปริมาณของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 9 ตุลาคม พ.ศ.2551 ข้อ 4)

ตัวอย่างวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง

ชื่อวัตถุที่อาจใช้
บริเวณที่ใช้ และ/หรือการนำไปใช้
อัตราส่วนสูงสุดที่ให้ใช้ (ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป)
เงื่อนไข
Hydroquinone
ผลิตภัณฑ์สำหรับย้อมผม (Oxidizing colouring agents for hair dyeing)
0.3 %

ผลิตภัณฑ์ชุดทำเล็บเทียม
0.02 %
(หลังการผสม)
Resorcinol
ผลิตภัณฑ์สำหรับย้อมผม
(Oxidizing colouring agents for hair dyeing)
5 %

โลชั่นสำหรับเส้นผมและแชมพู
0.5 %
ใช้โดยช่างทำเล็บอาชีพ
Sodium fluoride
ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยในช่องปาก
0.11 %
คำนวณในรูป fluoride (หากใช้สารประกอบของฟลูออไรด์หลายชนิดร่วมกัน ปริมาณของ fluoride รวมทั้งหมด จะต้องไม่เกิน 0.11 %)

Silver nitrate
ผลิตภัณฑ์แต่งผมดำ
5 %

Lead acetate
Lead acetate
0.6 %
คำนวณในรูป lead

Zinc pyrithione (ZPT)

Climbazole
ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมประเภทที่ต้องล้างออก
2 %
สารนี้อาจใช้เป็นวัตถุกันเสียในเครื่องสำอางได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ออกตามความในมาตรา 5 (5) แห่งพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2535
ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมประเภทที่ไม่ต้องล้างออก
0.5 %


          หากต้องการทราบว่าวัตถุใดอาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางนั้น สามารถดูรายละเอียดได้จากประกาศดังต่อไปนี้
ชื่อประกาศ
ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม
ตอน
วันที่
หน้า
วัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง




125
พิเศษ 162 ง
9 ตุลาคม พ.ศ.2551
12
129
พิเศษ 39 ง
23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555
11
129
พิเศษ 107 ง
6 กรกฎาคม พ.ศ.2555
42
130
พิเศษ 74 ง
21 มิถุนายน พ.ศ.2556
8
131
พิเศษ 240
25 พฤศจิกายน พ.ศ.2557
3

14.2 วัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
          “วัตถุกันเสีย” หมายความว่า วัตถุที่ใช้ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีวัตถุกันเสียไม่เป็นไปตามที่กำหนด ให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 47) พ.ศ. 2550 เรื่อง กำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ข้อ 4) ซึ่งจะเข้าข่ายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 33(2) ซึ่งห้ามผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขาย ตามมาตรา 36 ได้

ตัวอย่างวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
วัตถุกันเสีย
อัตราส่วนสูงสุดที่ให้ใช้ (ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป)
เงื่อนไข
Zinc pyrithione
1.0 %
(ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม)
1.ให้ใช้ได้เฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วล้างออก
2.ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในช่องปาก
0.5 %
(ผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ)
Thiomersal
0.007%
(คำนวณในรูปปรอท)ในกรณีที่มีการใช้ร่วมกับสารประกอบของปรอทอัตราส่วนสูงสุดโดยรวมของปรอททั้งหมด ต้องไม่เกิน 0.007 %
ให้ใช้ได้เฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่ใช้
บริเวณรอบดวงตา
Triclocarban
0.2%
มีสาร 3,3’,4,4’-Tetrachloroazobenzene ปนเปื้อนได้น้อยกว่า 1 ส่วนในล้านส่วนหรือ มีสาร3,3’,4,4’-Tetrachloroazoxybenzene ปนเปื้อนได้น้อยกว่า 1 ส่วนในล้านส่วน
Triclosan
0.3%

Propionic acid and its salts
2%
(คำนวณในรูปกรด)

Salicylic acid and its salts
0.5%
(คำนวณในรูปกรด)
ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุ
ต่ำกว่า 3 ปี ยกเว้น แชมพู

          หากต้องการศึกษาว่าวัตถุกันเสียใดอาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางได้นั้น สามารถศึกษาได้จากประกาศดังต่อไปนี้
ชื่อประกาศ
ราชกิจจานุเบกษา
เล่ม
ตอน
วันที่
หน้า
วัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง




124
พิเศษ 164 ง
29 ตุลาคม พ.ศ.2550
1
126
พิเศษ 143 ง
30 กันยายน พ.ศ.2552
13
131
พิเศษ 240
25 พฤศจิกายน พ.ศ.2557
2

14.3 สีที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
          สีที่ใช้ในเครื่องสำอางเป็นวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางต้องเป็น
           (1) สีตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้
           (2) สีผสมอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการกำหนดสีผสมอาหารออกตามความในกฎหมายว่าด้วยอาหาร
           (3) สีที่รับรองโดย USFDA (United State Food and Drug Administration) ตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ CFR (Code of Federal Regulation) ฉบับที่กล่าวถึงเรื่องสีซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งล่าสุด
          ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้สีเป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางไม่เป็นไปตามที่กำหนดให้ถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง (ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดสีที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 11 เมษายน พ.ศ.2551 ข้อ 4) ซึ่งจะเข้าข่ายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 33(2) ซึ่งห้ามผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขาย ตามมาตรา 36 ได้

15. การโฆษณาขายเครื่องสำอาง จะต้องขออนุญาตจาก อย.หรือไม่ เพราะเหตุใด
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 37  “ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การโฆษณาเครื่องสำอางโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ”
          พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 37 ไม่ได้บัญญัติเรื่องการโฆษณาเครื่องสำอางไว้โดยเฉพาะ แต่ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การโฆษณาเครื่องสำอางโดยอนุโลม เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้วไม่ปรากฏว่ามีมาตราใดให้ต้องขออนุญาตโฆษณาก่อนที่จะโฆษณา ดังนั้น การโฆษณาขายเครื่องสำอางจึงไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ส่วนที่ 1 การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา (มาตรา 22-29) ด้วย

16. ข้อห้ามของการโฆษณาเครื่องสำอาง มีอะไรบ้าง
           พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 37 ไม่ได้บัญญัติเรื่องการโฆษณาเครื่องสำอางไว้โดยเฉพาะ แต่ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การโฆษณาเครื่องสำอางโดยอนุโลม
           เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22-23 แล้ว จะพบว่า ข้อห้ามของการโฆษณาเครื่องสำอาง มีดังนี้

           1. เนื้อหาการโฆษณา การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม  ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22)
          ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม
          (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ยกเว้นข้อความที่ใช้ในการโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้
          (2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม
          (3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
          (4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
          (5) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
                      - ข้อความโฆษณาสินค้าหรือบริการที่อิงกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (รายละเอียดโปรดดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
                      - กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 อนุญาตเรื่องการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ระบุหรือประกาศว่าผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชคได้
           2. วิธีการโฆษณา การโฆษณาจะต้องไม่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกายหรือจิตใจ หรืออันอาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้บริโภค  ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 23)

17. หากมีการฝ่าฝืนเรื่องโฆษณาเครื่องสำอาง จะต้องรับโทษตามพ.ร.บ.เครื่องสำอางได้หรือไม่ หากมีปัญหาตามกฎหมายจะแก้ไขอย่างไร
           พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 37  “ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การโฆษณาเครื่องสำอางโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ”
           พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าผู้ฝ่าฝืนมาตรา 37 จะต้องได้รับโทษอย่างไร แต่ให้ดูที่มาตรา 56

18. นำเข้าเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้งอย่างถูกต้อง และโฆษณาผ่านเว็บไซต์ว่าสามารถลดรอยเหี่ยวย่นได้ ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่อย่างไร
          ไม่สามารถกระทำได้ เป็นการข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 37 ประกอบพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22(2)
          ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำกระทำผิดซ้ำอีกภายใน 6 เดือน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 56

19. พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ให้อำนาจสามารถสั่งปิดร้านขายเครื่องสำอางได้หรือไม่ อย่างไร
          ก่อนอื่นนั้นควรพิจารณามาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 28 และมาตรา 39 ดังนี้
           มาตรา 28  ผู้ใดประสงค์จะผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ต้องปฏิบัติดังนี้
            (1) แจ้งชื่อ ที่ตั้งสำนักงาน และสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอาง แล้วแต่กรณี
            (2) แจ้งชื่อ ประเภท หรือชนิดของเครื่องสำอางที่ตนจะผลิตหรือนำเข้า
            (3) แจ้งปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำอางนั้น
           การแจ้งตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
           มาตรา 39  ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำผิดพระราชบัญญัตินี้ให้เลขาธิการมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้
            (1) เข้าไปในสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่เก็บ หรือสถานที่ขายเครื่องสำอาง หรือเข้าไปในยานพาหนะที่บรรทุกเครื่องสำอาง  ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบเครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ เอกสาร หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง รวมตลอดทั้งวิธีการผลิต หรือวิธีการเก็บรักษา ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น
            (2) นำเครื่องสำอางหรือวัตถุที่สงสัยว่าเป็นเครื่องสำอางในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์
            (3) ค้น ยึด หรืออายัดเครื่องสำอาง ภาชนะบรรจุ เอกสารหรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องสำอาง
            (4) มีหนังสือเรียกให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารและหลักฐานที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่....

           ปัจจุบัน ในทางปฏิบัติมีเพียงเครื่องสำอางควบคุมเท่านั้น การผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุม ตามพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 มาตรา 28 เพียงแค่แจ้งสถานที่ผลิตหรือสถานที่เก็บเครื่องสำอางเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงการแจ้งการขายเครื่องสำอางหรือการขออนุญาตขายเครื่องสำอาง จึงไม่มีเรื่องการพักใช้ใบอนุญาตหรือการเพิกถอนใบอนุญาตขายเครื่องสำอางได้ นอกจากนี้ในมาตรา 39 ก็ไม่ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสั่งห้ามสถานประกอบการขายเครื่องสำอางด้วย ดังนั้น จึงไม่สามารถสั่งห้ามขายเครื่องสำอางอื่นที่ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายในร้านขายเครื่องสำอางได้

20. อำนาจจับ
           พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2535 เป็นกฎหมายที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจจับได้ ตามมาตรา 38
           มาตรา 38  เมื่อปรากฏว่าผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขายหรือผู้ขายใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำการเช่นว่านั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับอนุมัติจากเลขาธิการมีอำนาจจับกุมผู้นั้น เพื่อส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย
           ในกรณีมีเหตุอันสมควร เลขาธิการอาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการร่วมกับพนักงานสอบสวน ได้ตามระเบียบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย ในการนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

           แม้กฎหมายจะให้อำนาจจับแต่ก็ไม่ได้ว่าจะจับได้ตามอำเภอใจ ควรพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญที่ใช้ในขณะนั้นด้วย

           ตัวอย่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32 วรรคสาม กำหนดให้การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ อาจเทียบเคียงการจับโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
            (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา  80
            (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
            (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
            (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117

____________________
กรณีศึกษา
- ข่าวประชาสัมพันธ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง อย่าหลงเชื่อ! โฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางอวดอ้างสรรพคุณรักษาโรค. https://parunnews.wordpress.com/2012/09/12/longanoid-2/
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3772/2553 ทำแชมพูและครีมนวดผมกรอกใส่ขวดที่มียี่ห้อ http://rparun.blogspot.com/2014/07/supremecourt3772-2553-shampoo.html

2 ความคิดเห็น:

  1. ร้านแอ๋มช็อป จำหน่าย เครื่องสำอางเกาหลี และ เครื่องสำอางราคาถูก ข้อความอะไรก็ได้ให้มันเป็นคำ ส่วนคำที่เป็นคีย์ก็ให้ทำการลิ้งค์ให้หมด

    ตอบลบ
  2. After reading throungh your context ,This has to be one of the best  blog I have  come across in a while.
    The delivery is almost similar to the the street value of vyvanse  
    we offer our clients. I gotta bookmark this blog to come back for more amazing content

    ตอบลบ