วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510: 2.7 กรณีผู้รับอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ปรุฬห์ รุจนธำรงค์


2.7 กรณีผู้รับอนุญาตถูกเพิกถอนใบอนุญาต
          เหตุในการถูกเพิกถอนใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 96 คือ เรื่องการขาดคุณสมบัติของผู้รับอนุญาต กรณีที่เป็นใบอนุญาตสำหรับยาแผนปัจจุบันตามมาตรา 14 หรือกรณีใบอนุญาตสำหรับยาแผนโบราณตามมาตรา 48
          ผู้รับอนุญาตซึ่งถูกเพิกถอนใบอนุญาตต้องหยุดการผลิตยา การขายยาหรือการนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร แล้วแต่กรณี และจะขอรับใบอนุญาตใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้หรือไม่ก็ได้ สุดแต่จะพิจารณาเห็นสมควร
          เมื่อถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว กฎหมายยังใจดีช่วยบรรเทาความเสียหายให้ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตโดยมาตรา 100 กำหนดให้ผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะขายยาของตนที่เหลืออยู่แก่ผู้รับอนุญาตอื่น หรือแก่ผู้ซึ่งผู้อนุญาตเห็นสมควรได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือวันที่ได้ทราบคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี เว้นแต่ผู้อนุญาตจะผ่อนผันขยายระยะเวลาดังกล่าวให้

          ข้อสังเกต
          - กรณีเพิกถอนใบอนุญาต ผู้อนุญาตต้องได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการยาเท่านั้น ไม่มีกรณีฟ้องศาลเหมือนการสั่งพักใช้ใบอนุญาต
          - การถูกเพิกถอนใบอนุญาต เท่ากับว่าในขณะนั้นไม่มีใบอนุญาตอีกต่อไป การฝ่าฝืนมาตรา 96 ไม่มีบทลงโทษทางอาญาเหมือนกับการถูกพักใช้ใบอนุญาต ต้องพิจารณาเรื่องการฝ่าฝืนมาตรา 12, 46 แทน 
          - ถูกเพิกถอนใบอนุญาตพ้นกำหนด 2 ปี แล้วมาขอใบอนุญาตใหม่ ผู้อนุญาตจะให้ใบอนุญาตหรือไม่ก็ได้
          - ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วห้ามขายยาให้ประชาชนทั่วไปทันทีในกรณีที่ใบอนุญาตนั้นสามารถขายยาให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ แต่ยาที่ยังเหลืออยู่ให้ขายกับผู้รับอนุญาตอื่นเท่านั้น (ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 15, 49)  และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน อาจผ่อนผันขยายระยะเวลาดังกล่าวได้
          - ขายให้คลินิกแพทย์ โรงพยาบาลไม่เข้าข่ายผู้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
          - การฝ่าฝืนมาตรา 100 ไม่มีบทลงโทษทางอาญาเหมือนกับการถูกพักใช้ใบอนุญาต ต้องพิจารณาเรื่องการฝ่าฝืนมาตรา 12, 46 แทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น